วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมที่ 7 การจัดการชั้นเรียนแบบมืออาชีพ

การจัดชั้นเรียนแบบมืออาชีพ

ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยในหลายโรงเรียน คือ การควบคุมดูแลนักเรียนให้อยู่ใน
ระเบียบวินัยและตั้งใจเรียน แม้กระทั่งครูที่มีประสบการณ์ด้านการสอนที่มีความเชื่อมั่นในวิธีการควบคุมชั้นเรียน โดยนักเรียนต้องเชื่อฟังและอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับแนวการเรียนการสอนในปัจจุบันที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้นั้นๆ ได้คิดลงมือทำกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น ตื่นตัว ตื่นใจ หรือมีใจจดจ่อผูกพันกับสิ่งที่ทำ มิใช่เพียง ทำไปให้เสร็จภารกิจเท่านั้น ดังนั้นการที่ครูจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ ผู้เรียนมีส่วนร่วมนั้น กิจกรรมนั้นจะต้องมีลักษณะที่ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่าง “active” คือช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกมีความกระตือรือร้นตื่นตัว มีความจดจ่อ ผูกพันกับสิ่งที่ทำ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และครูที่สามารถดำเนินการดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จนั้นจึงได้รับการยอมรับว่าเป็น ครูมืออาชีพ
ดังนั้น ครูมืออาชีพจึงเป็นครูที่มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน มีความสามารถจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องพัฒนาทักษะวิชาชีพของตนเองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพของนักเรียนอย่างแท้จริงดังนั้นการบริหารจัดการชั้นเรียนตลอดจนการสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้หรือสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองจึงเป็นสิ่งที่ครูมืออาชีพต้องให้ความสำคัญและสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดการชั้นเรียน คือ การจัดสภาพของห้องเรียน
ทางด้านกายภาพหรือการตกแต่งห้องเรียนด้วยวัสดุตกแต่งเพื่อเป็นการจูงใจนักเรียนให้มีความสนใจและตั้งใจเรียน นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการชั้นเรียนเท่านั้น หากแต่ต้องมีการ
สร้างสรรค์และเอาใจใส่สภาพบรรยากาศภายในห้องเรียนด้วยเช่นกัน ครูจึงเป็นบุคคลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในการรับหน้าที่เป็นผู้สร้างและส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอน กระตุ้นความใฝ่รู้และใส่ใจในการศึกษาของผู้เรียน สร้างความมีระเบียบวินัยให้กับผู้เรียน

การจัดการชั้นเรียนมีความสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ คือ
           - การเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้หรือเกิดได้น้อยถ้ามีสิ่งรบกวนในชั้นเรียนอยู่ตลอดเวลาด้วย

ปัญหาทางด้านพฤติกรรมของนักเรียน

- นักเรียนที่อยู่ในชั้นเรียนที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย สิ่งแวดล้อมในชั้นเรียนมีเสียงดังและ
สิ่งรบกวน หรือการจัดที่นั่งไม่เหมาะสมอาจเกิดสาเหตุให้เกิดปัญหาทางวินัยนำไปสู่การแสดง
พฤติกรรมที่ก้าวร้าว หรือทำให้นักเรียนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
            ดังนั้น จะเห็นว่าการจัดการบริหารชั้นเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความ
กระตือรือร้นในการเรียนและร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยมีครูเป็นผู้วางแผนและกระบวนการส่งเสริมทั้งทางด้านกายภาพ จิตวิทยา และสังคม โดยมีสอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์ (Maslow)ที่กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานอย่างเป็นลำดับขั้น เริ่มตั้งแต่ขั้นความต้องการทางด้านร่างกาย ขั้นความต้องการความมั่นคง ขั้นความต้องการการยอมรับและยกย่องจากสังคมและขั้นความต้องการพัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ทำให้ต้องการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทำให้ครูต้องเป็นผู้ช่างสังเกตว่านักเรียนมีความต้องการพื้นฐานในระดับใด และพยายามช่วยเหลือตอบสนองความต้องการของนักเรียน ให้ความเป็นอิสระและเสรี รวมทั้งจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และรู้จักตนเอง



วิธีการจัดชั้นเรียนแบบมืออาชีพ


การจัดการชั้นเรียนแบบมืออาชีพนั้นคนที่เป็นครูควรยึดหลักดังต่อไปนี้
1. หลักประชาธิปไตย ครูควรให้ความสำคัญต่อนักเรียนเท่าเทียมกัน ให้ความเสมอภาค ให้อิสระ ให้โอกาสแก่ทุกคนในการแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันครูต้องใจกว้าง ยินดีรับฟังความเห็นของทุกคน และควรฝึกให้นักเรียนปฏิบัติตนตามสิทธิหน้าที่ รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ให้รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างประชาธิปไตย
2. หลักความยุติธรรม ครูควรปกครองโดยใช้หลักความยุติธรรมแก่นักเรียนทุกคนโดยทั่วถึง นักเรียนจะเคารพศรัทธาครู และยินดีปฏิบัติตามกฎระเบียบของครู ยินดีปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของครู ตลอดจนไม่สร้างปัญหาในชั้นเรียน
3. หลักพรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้
เมตตา หมายถึง ความรักและเอ็นดุ ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข
กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
มุทิตา หมายถึง ความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ลาภยศ สุข สรรเสริญ
อุเบกขา หมายถึง ความเที่ยงธรรม การวางตัวเป็นกลาง การวางใจเฉย
ถ้าครูทุกคนยึดหลักพรหมวิหาร 4 ในการปกครองชั้นเรียน นอกจากจะทำให้นักเรียนมีความ
เคารพรักศรัทธาครู และมีความสุขในการเรียนแล้วยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่
นักเรียนด้วย
4. หลักความใกล้ชิด การที่ครูแสดงความเอาใจใส่ ความสนใจ ให้ความใกล้ชิดกับ
นักเรียน เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างบรรยากาศทางด้านจิตวิทยา วิธีการแสดงความสนใจนักเรียนทำได้หลายวิธี ซึ่งประกอบด้วย
1. ครูจะต้องรู้จักนักเรียนในชั้นทุกคน รู้จักชื่อจริง ชื่อเล่น ความสนใจของเด็กแต่ละคน
เป็นต้นว่า งานอดิเรก มีพี่น้องกี่คน จุดเด่น จุดด้อย ของนักเรียนแต่ละคน
2. ครูจะต้องแสดงความสนใจในสารทุกข์สุขดิบของเด็กแต่ละคน เช่น หมั่นถามความ
เป็นไปของพี่น้อง ความคืบหน้าของการสะสมแสตมป์ คือ ไม่เพียงรู้แต่ว่าเด็กเป็นอะไรในข้อ 1 แต่รู้ข่าวคราวเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านั้นด้วย
3. ครูจะมอบเวลาของตนเพื่อเด็ก เวลาที่นอกเหนือจากงานสอน ได้แก่ เวลาเย็นหลังเลิก
เรียน ช่วงพักระหว่างการเรียน เพื่อช่วยเด็กที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ว่าต้องการขอ
คำปรึกษา ต้องการขอคำแนะนำในการหารายได้พิเศษ ครูจะต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กได้ตลอดเวลา
4. ครูจะต้องใกล้ชิด สัมผัสทั้งร่างกายและจิตใจ คำสั่งสอนและการกระทำของครูจะต้อง
สอดคล้องกัน เป็นต้นว่า ถ้าครูจะอบรมสั่งสอนเด็กเรื่องความซื่อสัตย์ ครูจะต้องปฏิบัติตนเป็นคนซื่อสัตย์ด้วยเช่นกัน กายสัมผัสก็เป็นสิ่งจำเป็น การจับต้องตัวบ้าง จะเป็นสื่อนำให้เด็กรู้สึกถึงความใกล้ชิดสนิทสนม


นำแนวคิดมาใช้ในการจัดการชั้นเรียนแบบมืออาชีพ

             เราสามารถที่จะนำหลักการดังกล่าวมาใช้เพื่อที่จะเป็นแนวทางหรือแนวคิดในการจัดชั้นเรียนแบบมืออาชีพของเราได้คือเราสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ถ้าปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี หมายถึง ทั้งครูและนักเรียนต่างมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม ครูให้ความเป็นกันเองแก่นักเรียน ให้นักเรียนมีอิสระ และมีความสบายใจในการทำกิจกรรม บรรยากาศภายในห้องเรียนก็จะไม่ตึงเครียด เป็นบรรยากาศที่รื่นรมย์ น่าเรียน น่าสอน ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี แนวทางในการสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบและเราก็สามารถที่นำการจัดชั้นเรียนแบบมืออาชีพไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

กิจกรรมที่6 มาตราฐานวิชาชีพ


สรุปมาตรฐานวิชาชีพ และนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพครู



              ทุกวิชาชีพย่อมต้องมีมาตรฐานของวิชาชีพนั้น เพื่อวัด หรือประมาณค่าผู้ปฏิบัติการวิชาชีพ ตามมาตรฐานด้านความรู้ ทักษะ และประสบการณ์วิชาชีพ  การที่องค์กรด้านวิชาชีพต่างๆ ได้กำหนดให้มีมาตรฐานวิชาชีพของตน ถือเป็นภาระหน้าที่เพื่อความมุ่งประสงค์ในการรักษา ส่งเสริม และพัฒนาอาชีพของตนให้มีมาตรฐานสูงที่สุด โดยให้ผู้ปฏิบัติการ ผู้รับบริการ ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนได้เห็นความสำคัญของการอาชีพนั้นๆ และเพื่อให้การอาชีพนั้นๆ สามารถคงอยู่ได้ด้วยความมีคุณค่า เป็นที่ยอมรับนับถือและได้รับการยกย่อง

                 สำหรับวิชาชีพทางการศึกษานั้น คำว่า มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาเป็นทั้งการสร้าง การพัฒนา รวมทั้งการเสริมให้บุคคลมีคุณภาพ มีศักยภาพ ที่จะเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของชุมชน สังคม และประเทศ

มาตรฐานวิชาชีพ หมายถึง จุดมุ่งหมายหลักทีจะสร้างแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจมนวิชาชีพของผู้ปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติงานอาชีพมีคุณภาพสูงสุด วิชาชีพใดๆ ย่อมให้บริการแก่สาธารณชน หรือองค์กรต่างๆ โดยต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเฉพาะ โดยมีมาตรฐานในการประกอบอาชีพที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องได้รับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอก่อนที่จะประกอบอาชีพ

        วิชาชีพที่มีมาตรฐาน จึงได้รับการยกย่องให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงเพราะผู้ประกอบวิชาชีพ นอกจากต้องมีความรู้และทักษะในวิชาชีพแล้วยังต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะเกี่ยวข้องกับผู้รับบริการและสาธารณชน จึงต้องมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความมั่งใจต่อผู้รับบริการและสาธารณชน โดยผู้ประกอบวิชาชีพต้องประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา ได้รับการศึกษาอบรมมายาวนานเพียงพอ มีอิสระในการใช้ชีวิตตามมาตรฐานวิชาชีพ และมีจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งต้องมีสถาบันวิชาชีพหรือองค์กรวิชาชีพที่เป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์และจรรโลงวิชาชีพด้วย
มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา   เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดคุณภาพในการประกอบวิชาชีพ สามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่ผู้รับบริการจากวิชาชีพได้ว่า เป็นบริการที่มีคุณภาพ และตอบสังคมได้ด้วยว่า การที่กฎหมายให้ความสำคัญกับวิชาชีพทางการศึกษา และกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุมโดยต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้น เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องใช้ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔๙ ได้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาไว้ ๓ ด้าน คือ (มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา :สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ๒๕๔๘: ๔) เช่น

  มาตรฐานความรู้ หมายถึง ข้อกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู มีคุณวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง
                ๑.มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครู มาตรฐานข้อนี้ ประกอบด้วย มาตรฐาน ๒ ส่วน ได้แก่              
                มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพครูจะต้องผ่านการฝึกทักษะและสมรรถนะของวิชาชีพครูในด้านการปฏิบัติการสอน รวมทั้งทักษะและสมรรถนะด้านการสอนสาขาวิชาเฉพาะในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด
๒. มาตรฐานการปฏิบัติงาน มีความหมายครอบคลุมมาตรฐานย่อยๆ ของการปฏิบัติงาน ๑๒ ประการด้วยกัน คือ
                - ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่เสมอ
                - ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่ผู้เรียน
                - มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ
                - พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
                - พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
                - จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน
                - รายงานผลกรพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ
                - ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีกับผู้เรียน
                - ร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์
                - ร่วมมือกับผู้อื่นในชุมชนอย่างสร้างสรรค์
                - แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
                - สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทุกสถานการณ์ 
   ๓. มาตรฐานการปฏิบัติตน  หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติของผู้ปฏิบัติวิชาชีพ จะต้อง  ประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณของมาตรฐานวิชาชีพครู ๕ ประการดังต่อไปนี้
                - จรรยาบรรณต่อตนเอง
                - จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
                - จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
                - จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
                - จรรยาบรรณต่อสังคม 
    พื้นฐานและแนวคิด
          โดยพื้นฐานและแนวความคิดความเชื่อของการมีมาตรฐานวิชาชีพ คือ
                - เป็นมาตรการของการให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อสามารถพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพเป็นทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่มบุคคล
                - เป็นมาตรฐานที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเลื่อนตำแหน่งวิชาชีพ เพิ่มคุณวุฒิ คุณภาพ คุณสมบัติ รวมทั้งทักษะและเจตคติในการประกอบวิชาชีพ
                - เป็นมาตรการที่จะเพิ่มมาตรฐานในระดับวิชาชีพที่ทำอยู่ในด้านความรู้ความเข้าใจ และสมรรถนะของบุคคลให้มีความเป็นมืออาชีพในวิชาชีพยิ่งขึ้น เป็นต้น
          มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษานั้น นอกจากเป็นมาตรฐานวิชาชีพที่ต้องประกอบวิชาชีพเพื่อบริการต่อสาธารณชนตามบริบทของวิชาชีพชั้นสูงทั่วไปแล้ว ยังต้องมีการปฏิบัติการวิชาชีพที่เกี่ยวกับบทบาทสำคัญต่อสังคมและความเจริญของประเทศที่สำคัญด้วยคือ (มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ๒๕๔๘: ๑)
                - สร้างพลเมืองดีของประเทศ โยให้การศึกษาขึ้นพื้นฐานที่ประเทศต้องการ
                - พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
                - สืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามขงอชาติ จากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อรักษาความเป็นชาติไว้ให้มั่นคงและยาวนาน

  การนำไปประยุกต์ใช้

                การใช้และปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพในรูปแบบและวิธีการที่ต่างๆ กัน ขึ้นกับแต่ละสถาบัน องค์กร สมาคม หรือสภาวิชาชีพต่างๆ การประยุกต์ใช้มาตรฐานวิชาชีพ ย่อมขึ้นกับความต่างของวิชาชีพ ความต่างของขอบเขตการใช้มาตรฐานด้วย
                เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับ คุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการประกอบวิชาชีพครู โดยผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องนำมาตรฐานวิชาชีพเป็นหลักเกณฑ์ในประกอบวิชาชีพคุรุสภา             

           มาตรฐานวิชาชีพครู  จะเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิ   ได้รับ
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานวิชาชีพครู
                เป็นตัวชี้วัดหรือประมาณค่าผู้ปฏิบัติการวิชาชีพ ตามมาตรฐานด้านความรู้ ทักษะ และประสบการณ์วิชาชีพและส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ





กิจกรรมที่5 ต้นแบบแห่งการเรียนรู้

              
ครูต้นแบบแห่งการเรียนรู้

                       คำว่าต้นแบบในวงการศึกษามีมากมาย   ที่คุ้นหูของทุกคนนั้น คือ ครูต้นแบบ ต่อมาก็มี โรงเรียนต้นแบบศึกษานิเทศก์ต้นแบบ และ ต่อ ๆ ไปก็จะมี ผู้บริหารต้นแบบ นักเรียนต้นแบบผู้ปกครองต้นแบบ ชุมชนต้นแบบ ภารโรงต้นแบบ ฯลฯ        จะมีใครเคยสงสัยไหมว่า   “ต้นแบบคืออะไรทำ ไมต้องมีครูต้นแบบเกิดประโยชน์อะไรถึงจะต้องคัดเลือกกันด้วยกระบวนการยุ่งยากซับซ้อน ประเมินแล้วประเมินเล่า เสียงบประมาณมากมาย

                    ดังนั้น   พวกเราชาวครูทั้งหลายคงทราบแล้วว่าครูต้นแบบโรงเรียนต้นแบบศึกษานิเทศก์ก็ต้นแบบ และต้นแบบอีกสารพัดที่กำลังจะตามมาทรงคุณค่าของการเป็นแบบแก่ครูและสังคมเพียงใด ต้นแบบต้องทำงานหนักและเหนื่อยทั้งเพื่อคงรักษาการเป็นต้นแบบอีกทั้งถ่ายทอดขยายเครือข่ายแก่ผู้ดูแบบทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการแต่ท่านเหล่านั้นคงไม่เหน็ดเหนื่อยต่อการสอนการเผยแพร่ เพราะท่านมีวิญญาณแห่งต้นแบบพวกเรามาร่วมเป็นกำลังใจให้ต้นแบบกันเถอะค่ะไม่ว่าท่านจะเป็นต้นแบบจากองค์กรไหนท่านก็เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้พบเห็นได้เสมอทั้งที่ท่านรู้ตัวและไม่รู้ตัวท่านได้ทำบุญอันยิ่งใหญ่นัก สำหรับบางท่าน  แม้ไม่มีองค์กรใดมารับรองว่าท่านเป็นต้นแบบแม้ท่านส่งผลงานเข้ารับเลือกเป็นต้นแบบแล้วท่าน ไม่ได้รับเลือก  แต่ท่านอาเป็นแรงบันดาลใจเป็นต้นแบบของดวงตาคู่น้อย ๆที่จับจ้องดูทุกกิริยาของท่าน และท่านเป็นต้นแบบตั้งแต่มีเสียงเรียกท่านคุณครูและเราก็ต้องเป็นแบบอย่างของต้นแบบแห่งการเรียนรู้ด้วย

การนำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง
              เราสามารถที่จะครูต้นแบบได้  เพื่อพัฒนาในชีวิตประจำวันได้ในหลายๆด้านเช่นการเป็นอยู่และการพัฒนาตัวเองเนื่องจากเรานั้นจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้บุคคลคนอื่นนั้นเคารพนับถือเราและมีความไว้ว่างใจกับเราเพราะคนที่จะเป็นต้นแบบสอนให้รู้ ต้นแบบทำให้ดู และต้นแบบอยู่ให้เห็นหากครูเป็นต้นแบบที่ดีเป็นกัลยาณมิตรของศิษย์และเพื่อนครู ก็ย่อมจะเกิดผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เกิดครูดีศิษย์ดีต่อเนื่องขยายวงต่อ ๆ กันไป

ภาวะผู้นำ และการเปลี่ยนแปลง

ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด

                            ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม

         การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราทุกคนคงยอมรับว่าไม่มียุคสมัยใดที่การเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วและมีผลกระทบรุนแรงเท่าในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงได้สร้างหายนะให้กับองค์กรหลายแห่งไม่เว้นแม้กระทั้งองค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมาในอดีต ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงก็ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับหลายองค์กรเช่นกัน ประเด็นเรื่องการอยู่รอดและการเปลี่ยนแปลงเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยตรง ดังคำกล่าวของ ชาร์ล ดาร์วิน ที่ว่า "ผู้ที่อยู่รอด มิใช่เป็นสายพันธ์ (Species) ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด หากแต่ว่าเป็นผู้ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก"
         ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เป็นหรือเกิดขึ้นจริง มิใช่เป็นการเห็นหรือเข้าใจตามที่เราต้องการจะเห็นหรือให้มันเป็น
         ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถใช้ทั้งความรู้และความรู้สึกควบคู่กันไปอย่างได้สมดุล
         ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบจนอาจลืมสาระและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆไป
          ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นความจำเป็นของระบบ ของมาตรฐานโดยที่ไม่มองข้ามความงดงามอันเนื่องมาจากความหลากหลาย (Diversity)
          เราต้องการเปลี่ยนแปลง    เพื่อให้ได้มาซึ่งโครงสร้างองค์กรที่แบนราบ (Flat) ไม่สลับซับซ้อนไม่มีลำดับชั้นมากมาย เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น (Flexible) เป็นการบริหารงานโดยผ่านกระบวนการ (Process) อาศัยการทำงานแบบร่วมกันเป็นทีม แทนการบริหารงานแบบดั้งเดิมที่เน้นการดำเนินงานตามสายงาน (Function) เป็นหลัก ทำอย่างไรผู้บริหารถึงจะเข้าใจว่าระบบขององค์กรโดยแท้จริงแล้วเป็นระบบที่มีชีวิต เป็นระบบที่เปิด (Open System) ที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เป็นระบบที่จริงๆแล้วไม่อาจเขียนแทนได้ด้วยผังการไหลของงาน (Flowchart) หรือถ่ายทอดทุกอย่างผ่านคู่มือการดำเนินงาน (Procedure) หากแต่ว่าเป็นระบบที่ประกอบด้วยชีวิต จิตวิญญาณ ความรู้สึก ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่มิอาจถ่ายทอดออกเป็นตัวหนังสือ หรือเขียนออกมาอยู่ในรูปแบบของเอกสารได้ทั้งหมด

                    การสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวคงจะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย หากเรายังใช้แต่หลักทางด้านการจัดการ (Management) อยู่ เพราะการจัดการนั้นจริงๆแล้วใช้ได้ผลดีเฉพาะกับสิ่งที่เป็นสิ่งของ (Things) เท่านั้น แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน ตัวอย่างเช่น เวลาเราพูดถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ก็เป็นเรื่องของคน การปรับเปลี่ยนระบบก็เกี่ยวกับคน การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็เกี่ยวกับคนเช่นกัน ซึ่งเรื่องของคนนั้นหากจะให้ได้ผลแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า ภาวะผู้นำ (Leadership) มากกว่าที่จะใช้การจัดการ ภาวะผู้นำหรือความสามารถในการนำนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงสำเร็จ หลายคนบอกว่าการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้นควรจะต้องเริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดและจูงใจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะนั่นคือการกำหนดทิศทาง เป็นการวางเป้าหมายสำหรับอนาคต แต่สำหรับผมแล้วผมกลับเห็นว่าการสร้างศรัทธาต่างหากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การนำนี้สำเร็จ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่าแม้วิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นมานั้นจะดึงดูดและชวนให้ตื่นตาตื่นใจสักเพียงใดก็ตาม แต่หากคนทั่วไปไม่ยอมรับนับถือหรือศรัทธาในตัวผู้นำแล้ว วิสัยทัศน์ที่วางไว้นั้นก็มักจะไร้ความหมาย ไม่มีน้ำหนัก ปราศจาก Momentum แต่ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้วิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้อาจจะดูไม่ดึงดูดใจเท่าที่ควร แต่ถ้าหากคนมีความชอบ ความเชื่อ หรือศรัทธาในตัวผู้นำแล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นๆก็มีโอกาสที่จะสำเร็จได้มากทีเดียว

                

ผู้นำในดวงใจ

ผู้นำในดวงใจ   คือ   พล.อ.  เปรม   ติณสูลานนท์





ประวัติโดยย่อ
ชื่อ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ตำแหน่งปัจจุบัน ประธานองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี วันเดือนปีเกิด 26 สิงหาคม 2463 การศึกษา เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนวัดบ่อยาง
โรงเรียนวชิราวุธ จังหวัดสงขลา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทคนิคทหารบก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า โรงเรียนยานเกราะ กองทัพบกสหรัฐอเมริกา ฟอร์ทน๊อกซ์ เคนตั๊กกี้ สหรัฐอเมริกา
วิทยาลัยกองทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ ๙

ภูมิลำเนาและชาติกำเนิด
                 
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์         ณ บ้านบ่อยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
บิดาชื่อ หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) มารดาชื่อ นางอ๊อด ติณสูลานนท์

การศึกษา
               พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2480 แล้วเข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรพิเศษ จากโรงเรียนเทคนิคทหารบก สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2484
                
เมื่อเข้ารับราชการแล้ว ได้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญ คือ
                
หลักสูตรนายทหารฝึกหัดราชการ จากโรงเรียนนายร้อยทหารม้า เมื่อปี พ.ศ.2490
              
หลักสูตรพิเศษวิทยาลัยการทัพบก ชุดที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2503
              
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2509 - 2510
                
การศึกษาในต่างประเทศ คือ หลักสูตรผู้บังคับกองร้อย และหลักสูตรผู้บังคับกองพันยานเกราะ จากโรงเรียนยานเกราะกองทัพบก สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ท่านยังได้รับการเชิดชูเกียรติจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มอบปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ จากหลายสถาบันการศึกษา

ยศและตำแหน่งทางทหาร

                     
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สำเร็จการศึกษาหลักสูตรพิเศษ โรงเรียนเทคนิคทหารบก และได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกองรถรบ ตั้งแต่ยังมีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อย และได้รับพระราชทานยศเป็น ว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2484 ขณะปฏิบัติการรบอยู่ที่ ปอยเปต อีก 6 เดือนต่อมา รับพระราชทานยศร้อยตรี แล้วได้กลับไปใช้ชีวิต ในสนามรบอีกครั้งหนึ่ง ในสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยคราวนี้ต้องอยู่ปฏิบัติภารกิจนานถึง 4 ปี และได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยโท และ ร้อยเอก ในระหว่างปฏิบัติราชการสนามสงครามมหาเอเชียบูรพา
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ร้อยเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้กลับใช้ชีวิตทหาร ในห้วงเวลาปกติ และรับราชการเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ กล่าวคือ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองพันที่ 1 กรมรถรบ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2489 และในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ได้เข้ารับการศึกษา เป็นนายทหารฝึกหัดราชการ ที่โรงเรียนทหารม้า ทั้ง ๆ ที่ต้องการจะเป็นทหารปืนใหญ่ แต่เมื่อเกิดสงคราม ทุกอย่างจึงเปลี่ยนไป
              
เมื่อจบการศึกษา ได้กลับมารับตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่เดิม และได้เลื่อนขั้นรักษาราชการ ผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมรถรบ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2492 จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2493 ขณะที่ดำรงยศพันตรีแล้ว จึงมีโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ผู้บังคับกองร้อยที่ 3 กองพันทหารม้าที่ 4 จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้เลื่อนขั้นเป็น รองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4 ในเดือนพฤษภาคม ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ได้รับตำแหน่ง รองผู้บังคับการ จังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์อีกตำแหน่งหนึ่ง
นอกจากการศึกษาที่โรงเรียนทหารม้าแล้ว พันตรีเปรม ติณสูลานนท์ ยังได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษา ในโรงเรียนยานเกราะ ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ที่ ฟอร์ทนอคธ์ ทั้งในหลักสูตร ผู้บังคับกองร้อย เมื่อปี พ.ศ.2495 และหลักสูตรผู้บังคับกองพัน เมื่อปี พ.ศ.2496 อีกด้วย เมื่อจบการศึกษาวิชาทหาร จากกองทัพบกอเมริกา ทางราชการได้บรรจุให้ท่านเป็นอาจารย์ แผนกวิชายุทธวิธี กองพันทหารม้าที่ 5 กรมทหารม้าที่ 2 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2497 ขณะดำรงตำแหน่งยศ พันโท โดยยังทำหน้าที่ อาจารย์ในขณะเดียวกัน
             
พันโทเปรม ติณสูลานนท์ ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับเหล่าทหารม้า จนได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการ โรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2501 หลังจากได้รับพระราชทานยศ พันเอก เมื่อปี พ.ศ. 2499 และในที่สุด ท่านได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในเหล่าทหารม้า โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ดำรงยศ พลตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2411 ในช่วงที่ท่านเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ท่านได้ปลูกสำนึกของเหล่าทหารม้า ให้ "หยิ่งในเกียรติ และผยองในเหล่า" เพราะในประวัติศาสตร์นั้น ทหารม้าได้สร้างผลงานที่ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจมาโดยตลอด
                 
พลตรี เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2516 และได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 2 ในปีต่อมา พร้อมได้รับพระราชทานยศ พลโท การรับราชการที่ กองทัพภาคที่ 2 นี้เอง คือ ช่วงเวลาที่ท่านภาคภูมิใจ และประทับใจเป็นที่สุด เพราะได้มีโอกาส ทำงานที่ต้องการจะทำ และเป็นงานที่ช่วยเหลือชาวบ้านได้จริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้มีโอกาส เข้าไปแก้ไขปัญหาสงครามระหว่างคนไทย ด้วยกันเอง จนสามารถใช้งาน "การเมืองนำทหาร" ได้สำเร็จ และได้ขยายสู่คำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้ เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ในห้วงเวลาต่อมา จึงส่งผลให้สงครามกลางเมือง ยุติลงอย่างเด็ดขาดในปี พุทธศักราช 2525 นับคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง
                
ขณะที่ท่านกำลังมุ่งมั่น ตั้งใจแก้ปัญหาของ "ภาคอีสาน" อยู่นั้น ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ดำรงยศ พลเอก และอีก 1 ปี ต่อมา ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุด ของกองทัพบก คือ ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อถึงเวลาเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2523 นั้น คณะรัฐมนตรีได้พิจารณา ให้ต่อเวลาราชการให้ท่านอีก 1 ปี เนื่องจากผลแห่งการประกอบคุณงามความดี ให้แก่กองทัพบก และประเทศชาติอย่างสูงยิ่ง

ตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งพิเศษ

               
สำหรับด้านการเมืองนั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นครั้งแรก ในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2502 และได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2511 สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516 สมาชิกสภานโยบาย ในปี พ.ศ. 2520 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ.2520 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ.2522 และเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเมื่อ 3 มีนาคม 2523 ในระหว่างที่บริหารประเทศอยู่นี้ ได้มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความเหมาะสมอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดได้ออกพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ก่อนระยะเวลาสิ้นสุดของบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเพียงเล็กน้อย เพื่อเป็นการประนีประนอมระหว่างความคิดทางการเมืองเกี่ยวกับวีธีการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนั้นได้แตกแยกความคิดออกเป็นสองฝ่าย มีผลให้การเลือกตั้งครั้งทั่วไปที่มีขึ้น เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526 เป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ การเลือกตั้งครั้งนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาของบทเฉพาะกาล ภายหลังภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับการสนับสนุนจาก หัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อไปอีกสมัยหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2526 แต่ท่านได้ประกาศลาออกจาก ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง เนื่องจากการยุบสภาในวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 และได้รับการแต่งตั้ง ให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งอีก ในวันที่ 11 สิงหาคม 2529 ครั้งนี้ได้ดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2531 และได้พ้นจากตำแหน่ง เพราะการประกาศยุบสภา หลังการเลือกตั้งทั่วไปสิ้นสุดลง ท่านปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกต่อไป นอกจากนี้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังได้รับการแต่งตั้ง เป็นนายทหารพิเศษ ประจำหน่วยทหาร มหาดเล็กรักษาพระองค์ หลายหน่วย คือ กรมทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1, ราชองค์รักษ์เวร และตำแหน่งที่สำคัญคือ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ
 ราชการสนาม

              
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกปฏิบัติราชการสนาม นับตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนายร้อย เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐบาลฝรั่งเศส และครั้นเมื่อเกิดสงคราม เอเชียบูรพา ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดกองหนุน ของกองทัพพายัพ ซึ่งมีหลวงเสรี เริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ และได้ปฏิบัติราชการสนามเป็นกองหนุนของกองพลทหารราบที่เชียงตุง นอกจากนี้ ยังได้ปฏิบัติงาน ในการปราบปรามการก่อการจลาจล, การรักษาความสงบ เรียบร้อยภายในประเทศ การต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ และการป้องกันชายแดน

 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญตรา

            
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับราชการ สนองพระเดชพระคุณ ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ ใช้ความรู้ ความสามารถปฏิบัติงานในทุกด้าน ทำให้เกิดผลดีแก่หน่วยและชาติบ้านเมือง จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญ เชิดชูเกียรติ วงศ์ตระกูล ที่สำคัญ คือ
          
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตน์ราชวราภรณ์
         
ปฐมจุลจอมเกล้า มหาวชิรมงกุฏ
        
 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
        
 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
        
 รามาธิบดีชั้นเสนางคบดี
        
 เหรียญรัตนาภรณ์
        
 เหรียญชัยสมรภูมิ
       
  เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้น 1
        
 เหรียญราชการชายแดน
         
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญต่างประเทศ จากหลายประเทศ

 ผลงาน

          
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีผลงานมากมาย ท่านเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วประเทศ ผลงานของท่าน มีคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนโดยทั่วไป อาทิเช่น

           
การแก้ปัญหาผู้ก่อการร้าย โดยใช้การเมืองนำทางทหาร
                 
ในขณะที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังดำรงตำแหน่ง เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ท่านได้ริเริ่มเป็นผู้นำ ในการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธี ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ โดยใช้นโยบาย 66/2523 ซึ่งใช้การเมืองนำหน้า ใช้ระบบให้อภัยโทษ แก่ผู้ก่อการร้าย ชักจูงให้ออกจากป่า กลับมาเป็นพลเมืองดี ของประเทศ ได้ผลดีมาก ทำให้ผู้นำและคอมมิวนิสต์ จำนวนมากได้กลับใจ และออกจากป่ามาสู่เมือง และได้รับการอภัยโทษ และสนับสนุนให้มีการทำมาหากิน อย่างสงบสันติ จากฝ่ายรัฐบาล และเป็นพลเมืองที่ดี ของประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาชาติต่อไป นับได้ว่านโยบายนี้ ได้รับผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ลดการเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน และขวัญกำลังใจของประชาชน

                 
การช่วยเหลือประชาชนในชนบทที่ยากจนอย่างจริงจัง
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ให้ความสนใจ เอาใจใส่ในปัญหาความยากจน ซึ่งอาจมาจากประสบการณ์ ของท่านที่มาจาก ครอบครัวคนธรรมดา ไม่ได้ร่ำรวย ประกอบกับการทำงานในฐานะ แม่ทัพภาคที่ 2 ท่านได้ออกสัมผัสกับ ชีวิตที่แท้จริงของชาวชนบท ในภาคอีสาน ด้วยความห่วงใยของท่าน ที่มีต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีความยากลำบาก แร้นแค้น ท่านจึงทุ่มเทในการพัฒนา ชนบทยากจน เพื่อเร่งรัดการพัฒนาชนบท อย่างเข้มแข็งและจริงจัง จนประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

                 
การปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น แม้ประเทศไทย ต้องเผชิญหน้ากับ ปัญหาหนักมาก ทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ทั้งจากภายใน และภายนอกประเทศ แค่ท่านก็สามารถบริหารประเทศ ให้ผ่านวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว จนสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และการคลังไว้ได้ด้วยความเรียบร้อย โดยใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ตามนโยบาย 66/2523 เข้าจัดการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งปรากฏผลสำเร็จอย่างดียิ่ง สำหรับในด้านเศรษฐกิจนั้น เป็นผลกระทบจาก ปัญหาเศรษฐกิจของโลก เช่น ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยตลาดโลกสูงขึ้น ฯลฯ รัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้พยายามแก้ไข ด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งสามารถรักษา อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้หลายประเทศ นอกจากนั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังสนับสนุน สำนักงานคณะกรรมการ ป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบในวงราชการนั้น เป็นบ่อนทำลาย ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสีย แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ตลอดจนได้จัดตั้ง คณะกรรมการการปฏิรูประบบราชการ ขึ้นแก้ไขพัฒนา ระบบบริหารราชการพลเรือน และประเทศชาติอย่างจริงจัง และที่จะละเว้นกล่าวถึงมิได้ คือ ท่านเป็นผู้นำ ในการอนุรักษ์ วัฒนธรรมไทย และส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย โดยได้นำการแต่งกาย ด้วยชุดพระราชทาน ซึ่งต่อมาเป็นที่ยอมรับ ของประชาชนคนไทยทั่วไป มิใช่แต่เพียงเท่านั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังเป็นผู้นำที่สร้าง ความสำเร็จทางด้านการฑูต และความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างดียิ่ง ท่านได้ติดต่อประสานสัมพันธ์ กับผู้นำประเทศต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และราบรื่น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อการขยายตลาดในต่างประเทศ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกร ดำเนินไปได้อย่างจริงจังด้วย โดยกำหนดนโยบายสำคัญในสถานทูต และที่ปรึกษาการพาณิชย์ ประจำประเทศต่าง ๆ เร่งรัดหาตลาดสินค้า ให้แก่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นในวันที่ 23 สิงหาคม พุทธศักราช 2531 ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง ให้เป็นองคมนตรี และได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์ ในโอกาสเดียวกันด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม ที่สามัญชนพึงได้รับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวลงจากเวทีการเมือง อย่างน่าภาคภูมิใจ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ แต่เป็นนักการทหาร และนักปกครอง ที่ต้องขึ้นสู่เวทีการเมืองนั้น จากสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ เป็นผลดีต่อบ้านเมืองในส่วนรวมทุกด้าน ดังประจักษ์ขึ้นแก่ ผู้คนทั้งหลาย ชีวิตท่านอุดมไปด้วยเกียรติประวัติ ที่งดงามหมดจด ยากที่จะลบเลือนหายไปได้ง่าย ๆ สิ่งต่าง ๆ ที่ท่านกระทำไว้ถูกต้อง และชอบธรรม แม้ท่านจะมิได้หวังผล ให้คนในสมัยเดียวกันพากันขอบคุณ แต่ประวัติศาสตร์ จะจารึกเรื่องราวนี้ไว้ สำหรับคนรุ่นหลัง ได้รับทราบถึงบุคคลผู้หนึ่ง ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด คนหนึ่งในบ้านเมืองของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีพระราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศยกย่อง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็น "รัฐบุรุษ" ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม พุทธศักราช 2531 เป็นต้นไป.