วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผู้นำในดวงใจ

ผู้นำในดวงใจ   คือ   พล.อ.  เปรม   ติณสูลานนท์





ประวัติโดยย่อ
ชื่อ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ตำแหน่งปัจจุบัน ประธานองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี วันเดือนปีเกิด 26 สิงหาคม 2463 การศึกษา เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนวัดบ่อยาง
โรงเรียนวชิราวุธ จังหวัดสงขลา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทคนิคทหารบก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า โรงเรียนยานเกราะ กองทัพบกสหรัฐอเมริกา ฟอร์ทน๊อกซ์ เคนตั๊กกี้ สหรัฐอเมริกา
วิทยาลัยกองทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ ๙

ภูมิลำเนาและชาติกำเนิด
                 
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์         ณ บ้านบ่อยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
บิดาชื่อ หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) มารดาชื่อ นางอ๊อด ติณสูลานนท์

การศึกษา
               พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2480 แล้วเข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรพิเศษ จากโรงเรียนเทคนิคทหารบก สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2484
                
เมื่อเข้ารับราชการแล้ว ได้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญ คือ
                
หลักสูตรนายทหารฝึกหัดราชการ จากโรงเรียนนายร้อยทหารม้า เมื่อปี พ.ศ.2490
              
หลักสูตรพิเศษวิทยาลัยการทัพบก ชุดที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2503
              
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2509 - 2510
                
การศึกษาในต่างประเทศ คือ หลักสูตรผู้บังคับกองร้อย และหลักสูตรผู้บังคับกองพันยานเกราะ จากโรงเรียนยานเกราะกองทัพบก สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ท่านยังได้รับการเชิดชูเกียรติจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มอบปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ จากหลายสถาบันการศึกษา

ยศและตำแหน่งทางทหาร

                     
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สำเร็จการศึกษาหลักสูตรพิเศษ โรงเรียนเทคนิคทหารบก และได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกองรถรบ ตั้งแต่ยังมีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อย และได้รับพระราชทานยศเป็น ว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2484 ขณะปฏิบัติการรบอยู่ที่ ปอยเปต อีก 6 เดือนต่อมา รับพระราชทานยศร้อยตรี แล้วได้กลับไปใช้ชีวิต ในสนามรบอีกครั้งหนึ่ง ในสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยคราวนี้ต้องอยู่ปฏิบัติภารกิจนานถึง 4 ปี และได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยโท และ ร้อยเอก ในระหว่างปฏิบัติราชการสนามสงครามมหาเอเชียบูรพา
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ร้อยเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้กลับใช้ชีวิตทหาร ในห้วงเวลาปกติ และรับราชการเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ กล่าวคือ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองพันที่ 1 กรมรถรบ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2489 และในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ได้เข้ารับการศึกษา เป็นนายทหารฝึกหัดราชการ ที่โรงเรียนทหารม้า ทั้ง ๆ ที่ต้องการจะเป็นทหารปืนใหญ่ แต่เมื่อเกิดสงคราม ทุกอย่างจึงเปลี่ยนไป
              
เมื่อจบการศึกษา ได้กลับมารับตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่เดิม และได้เลื่อนขั้นรักษาราชการ ผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมรถรบ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2492 จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2493 ขณะที่ดำรงยศพันตรีแล้ว จึงมีโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ผู้บังคับกองร้อยที่ 3 กองพันทหารม้าที่ 4 จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้เลื่อนขั้นเป็น รองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4 ในเดือนพฤษภาคม ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ได้รับตำแหน่ง รองผู้บังคับการ จังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์อีกตำแหน่งหนึ่ง
นอกจากการศึกษาที่โรงเรียนทหารม้าแล้ว พันตรีเปรม ติณสูลานนท์ ยังได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษา ในโรงเรียนยานเกราะ ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ที่ ฟอร์ทนอคธ์ ทั้งในหลักสูตร ผู้บังคับกองร้อย เมื่อปี พ.ศ.2495 และหลักสูตรผู้บังคับกองพัน เมื่อปี พ.ศ.2496 อีกด้วย เมื่อจบการศึกษาวิชาทหาร จากกองทัพบกอเมริกา ทางราชการได้บรรจุให้ท่านเป็นอาจารย์ แผนกวิชายุทธวิธี กองพันทหารม้าที่ 5 กรมทหารม้าที่ 2 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2497 ขณะดำรงตำแหน่งยศ พันโท โดยยังทำหน้าที่ อาจารย์ในขณะเดียวกัน
             
พันโทเปรม ติณสูลานนท์ ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับเหล่าทหารม้า จนได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการ โรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2501 หลังจากได้รับพระราชทานยศ พันเอก เมื่อปี พ.ศ. 2499 และในที่สุด ท่านได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในเหล่าทหารม้า โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ดำรงยศ พลตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2411 ในช่วงที่ท่านเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ท่านได้ปลูกสำนึกของเหล่าทหารม้า ให้ "หยิ่งในเกียรติ และผยองในเหล่า" เพราะในประวัติศาสตร์นั้น ทหารม้าได้สร้างผลงานที่ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจมาโดยตลอด
                 
พลตรี เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2516 และได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 2 ในปีต่อมา พร้อมได้รับพระราชทานยศ พลโท การรับราชการที่ กองทัพภาคที่ 2 นี้เอง คือ ช่วงเวลาที่ท่านภาคภูมิใจ และประทับใจเป็นที่สุด เพราะได้มีโอกาส ทำงานที่ต้องการจะทำ และเป็นงานที่ช่วยเหลือชาวบ้านได้จริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้มีโอกาส เข้าไปแก้ไขปัญหาสงครามระหว่างคนไทย ด้วยกันเอง จนสามารถใช้งาน "การเมืองนำทหาร" ได้สำเร็จ และได้ขยายสู่คำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้ เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ในห้วงเวลาต่อมา จึงส่งผลให้สงครามกลางเมือง ยุติลงอย่างเด็ดขาดในปี พุทธศักราช 2525 นับคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง
                
ขณะที่ท่านกำลังมุ่งมั่น ตั้งใจแก้ปัญหาของ "ภาคอีสาน" อยู่นั้น ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ดำรงยศ พลเอก และอีก 1 ปี ต่อมา ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุด ของกองทัพบก คือ ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อถึงเวลาเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2523 นั้น คณะรัฐมนตรีได้พิจารณา ให้ต่อเวลาราชการให้ท่านอีก 1 ปี เนื่องจากผลแห่งการประกอบคุณงามความดี ให้แก่กองทัพบก และประเทศชาติอย่างสูงยิ่ง

ตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งพิเศษ

               
สำหรับด้านการเมืองนั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นครั้งแรก ในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2502 และได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2511 สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516 สมาชิกสภานโยบาย ในปี พ.ศ. 2520 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ.2520 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ.2522 และเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเมื่อ 3 มีนาคม 2523 ในระหว่างที่บริหารประเทศอยู่นี้ ได้มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความเหมาะสมอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดได้ออกพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ก่อนระยะเวลาสิ้นสุดของบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเพียงเล็กน้อย เพื่อเป็นการประนีประนอมระหว่างความคิดทางการเมืองเกี่ยวกับวีธีการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนั้นได้แตกแยกความคิดออกเป็นสองฝ่าย มีผลให้การเลือกตั้งครั้งทั่วไปที่มีขึ้น เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526 เป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ การเลือกตั้งครั้งนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาของบทเฉพาะกาล ภายหลังภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับการสนับสนุนจาก หัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อไปอีกสมัยหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2526 แต่ท่านได้ประกาศลาออกจาก ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง เนื่องจากการยุบสภาในวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 และได้รับการแต่งตั้ง ให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งอีก ในวันที่ 11 สิงหาคม 2529 ครั้งนี้ได้ดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2531 และได้พ้นจากตำแหน่ง เพราะการประกาศยุบสภา หลังการเลือกตั้งทั่วไปสิ้นสุดลง ท่านปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกต่อไป นอกจากนี้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังได้รับการแต่งตั้ง เป็นนายทหารพิเศษ ประจำหน่วยทหาร มหาดเล็กรักษาพระองค์ หลายหน่วย คือ กรมทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1, ราชองค์รักษ์เวร และตำแหน่งที่สำคัญคือ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ
 ราชการสนาม

              
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกปฏิบัติราชการสนาม นับตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนายร้อย เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐบาลฝรั่งเศส และครั้นเมื่อเกิดสงคราม เอเชียบูรพา ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดกองหนุน ของกองทัพพายัพ ซึ่งมีหลวงเสรี เริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ และได้ปฏิบัติราชการสนามเป็นกองหนุนของกองพลทหารราบที่เชียงตุง นอกจากนี้ ยังได้ปฏิบัติงาน ในการปราบปรามการก่อการจลาจล, การรักษาความสงบ เรียบร้อยภายในประเทศ การต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ และการป้องกันชายแดน

 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญตรา

            
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับราชการ สนองพระเดชพระคุณ ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ ใช้ความรู้ ความสามารถปฏิบัติงานในทุกด้าน ทำให้เกิดผลดีแก่หน่วยและชาติบ้านเมือง จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญ เชิดชูเกียรติ วงศ์ตระกูล ที่สำคัญ คือ
          
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตน์ราชวราภรณ์
         
ปฐมจุลจอมเกล้า มหาวชิรมงกุฏ
        
 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
        
 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
        
 รามาธิบดีชั้นเสนางคบดี
        
 เหรียญรัตนาภรณ์
        
 เหรียญชัยสมรภูมิ
       
  เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้น 1
        
 เหรียญราชการชายแดน
         
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญต่างประเทศ จากหลายประเทศ

 ผลงาน

          
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีผลงานมากมาย ท่านเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วประเทศ ผลงานของท่าน มีคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนโดยทั่วไป อาทิเช่น

           
การแก้ปัญหาผู้ก่อการร้าย โดยใช้การเมืองนำทางทหาร
                 
ในขณะที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังดำรงตำแหน่ง เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ท่านได้ริเริ่มเป็นผู้นำ ในการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธี ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ โดยใช้นโยบาย 66/2523 ซึ่งใช้การเมืองนำหน้า ใช้ระบบให้อภัยโทษ แก่ผู้ก่อการร้าย ชักจูงให้ออกจากป่า กลับมาเป็นพลเมืองดี ของประเทศ ได้ผลดีมาก ทำให้ผู้นำและคอมมิวนิสต์ จำนวนมากได้กลับใจ และออกจากป่ามาสู่เมือง และได้รับการอภัยโทษ และสนับสนุนให้มีการทำมาหากิน อย่างสงบสันติ จากฝ่ายรัฐบาล และเป็นพลเมืองที่ดี ของประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาชาติต่อไป นับได้ว่านโยบายนี้ ได้รับผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ลดการเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน และขวัญกำลังใจของประชาชน

                 
การช่วยเหลือประชาชนในชนบทที่ยากจนอย่างจริงจัง
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ให้ความสนใจ เอาใจใส่ในปัญหาความยากจน ซึ่งอาจมาจากประสบการณ์ ของท่านที่มาจาก ครอบครัวคนธรรมดา ไม่ได้ร่ำรวย ประกอบกับการทำงานในฐานะ แม่ทัพภาคที่ 2 ท่านได้ออกสัมผัสกับ ชีวิตที่แท้จริงของชาวชนบท ในภาคอีสาน ด้วยความห่วงใยของท่าน ที่มีต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีความยากลำบาก แร้นแค้น ท่านจึงทุ่มเทในการพัฒนา ชนบทยากจน เพื่อเร่งรัดการพัฒนาชนบท อย่างเข้มแข็งและจริงจัง จนประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

                 
การปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น แม้ประเทศไทย ต้องเผชิญหน้ากับ ปัญหาหนักมาก ทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ทั้งจากภายใน และภายนอกประเทศ แค่ท่านก็สามารถบริหารประเทศ ให้ผ่านวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว จนสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และการคลังไว้ได้ด้วยความเรียบร้อย โดยใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ตามนโยบาย 66/2523 เข้าจัดการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งปรากฏผลสำเร็จอย่างดียิ่ง สำหรับในด้านเศรษฐกิจนั้น เป็นผลกระทบจาก ปัญหาเศรษฐกิจของโลก เช่น ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยตลาดโลกสูงขึ้น ฯลฯ รัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้พยายามแก้ไข ด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งสามารถรักษา อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้หลายประเทศ นอกจากนั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังสนับสนุน สำนักงานคณะกรรมการ ป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบในวงราชการนั้น เป็นบ่อนทำลาย ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสีย แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ตลอดจนได้จัดตั้ง คณะกรรมการการปฏิรูประบบราชการ ขึ้นแก้ไขพัฒนา ระบบบริหารราชการพลเรือน และประเทศชาติอย่างจริงจัง และที่จะละเว้นกล่าวถึงมิได้ คือ ท่านเป็นผู้นำ ในการอนุรักษ์ วัฒนธรรมไทย และส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย โดยได้นำการแต่งกาย ด้วยชุดพระราชทาน ซึ่งต่อมาเป็นที่ยอมรับ ของประชาชนคนไทยทั่วไป มิใช่แต่เพียงเท่านั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังเป็นผู้นำที่สร้าง ความสำเร็จทางด้านการฑูต และความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างดียิ่ง ท่านได้ติดต่อประสานสัมพันธ์ กับผู้นำประเทศต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และราบรื่น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อการขยายตลาดในต่างประเทศ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกร ดำเนินไปได้อย่างจริงจังด้วย โดยกำหนดนโยบายสำคัญในสถานทูต และที่ปรึกษาการพาณิชย์ ประจำประเทศต่าง ๆ เร่งรัดหาตลาดสินค้า ให้แก่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นในวันที่ 23 สิงหาคม พุทธศักราช 2531 ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง ให้เป็นองคมนตรี และได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์ ในโอกาสเดียวกันด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม ที่สามัญชนพึงได้รับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวลงจากเวทีการเมือง อย่างน่าภาคภูมิใจ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ แต่เป็นนักการทหาร และนักปกครอง ที่ต้องขึ้นสู่เวทีการเมืองนั้น จากสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ เป็นผลดีต่อบ้านเมืองในส่วนรวมทุกด้าน ดังประจักษ์ขึ้นแก่ ผู้คนทั้งหลาย ชีวิตท่านอุดมไปด้วยเกียรติประวัติ ที่งดงามหมดจด ยากที่จะลบเลือนหายไปได้ง่าย ๆ สิ่งต่าง ๆ ที่ท่านกระทำไว้ถูกต้อง และชอบธรรม แม้ท่านจะมิได้หวังผล ให้คนในสมัยเดียวกันพากันขอบคุณ แต่ประวัติศาสตร์ จะจารึกเรื่องราวนี้ไว้ สำหรับคนรุ่นหลัง ได้รับทราบถึงบุคคลผู้หนึ่ง ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด คนหนึ่งในบ้านเมืองของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีพระราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศยกย่อง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็น "รัฐบุรุษ" ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม พุทธศักราช 2531 เป็นต้นไป.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น